ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์  หรือประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี


Image.jpg


ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์  หรือประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา โดยเฉพาะที่เทศบาลตำบลจอมทองนั้นได้จัดขึ้นทุกวันที่ 15 เดือนเมษายน เป็นประจำทุกปี โดยเราจะเห็นขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของหมู่บ้านต่างๆ  พร้อมด้วยผู้ศรัทธาจำนวนมากในเขตเทศบาล ร่วมแห่ไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อนำไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทอง

การแห่ไม้ค้ำสะหลี  หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ โดยคำว่า 'สะหลี' เป็นภาษาล้านนา มาจากคำว่า 'ศรี' หมายถึงศรีมหาโพธิอันหมายถึงพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพิธีกรรมที่ขยายจากการที่ปัจเจกชนนำไม้ค้ำที่ตนได้จัดทำขึ้นไปค้ำที่ต้น โพธิ์ ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจาก ไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตาหรือไม้ค้ำที่จัดหา ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ อาจจัดเป็นสัญลักษณ์หมายความว่าผู้นั้นมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา พบว่าต้นโพธิ์ที่มีไม้ค้ำมากที่สุด คือต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

แต่ในบางท้องถิ่นแล้ว แทนที่แต่ละคนจะนำเอาไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์ตามประสงค์ของแต่ละคนนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะนัดหมายให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาไม้ค้ำซึ่งจะมีขนาดใหญ่แล้วตกแต่งให้งาม จากนั้นจึงทำพิธีแห่ไม้ค้ำนั้นร่วมขบวนกันเพื่อไปถวายวัดและนำไปค้ำต้นโพธิ์ ดังจะเห็นได้จากศรัทธาชาวบ้านในอำเภอจอมทองและอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ในตอนเริ่มแรกก่อนที่ พิธีการดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติจนกลายมาเป็นประเพณีแห่งไม้ค้ำโพธิ์อย่าง ทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่มีความคิดที่จะทำร่วมกัน ต่างคนต่างไปจัดหาและทำพิธีสืบชาตาราศีแล้วนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์เอง ต่อมาเมื่อได้ทำเป็นประจำทุกๆ ปี นานๆ เข้าประชานก็ได้รวมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เช่น จัดรวมกันเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านหลวง หมู่ที่ 6 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง เป็นต้น ต่างจัดหาไม้ง่ามที่มีลักษณะดีงามแล้วนำมาตกแต่งด้วยการทาขมิ้น และประดับกระดาษสี จากนั้นจึงนำขึ้นเกวียนแห่ไปทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ในช่วงที่แห่ไปนั้น นอกจาจะมีผู้คนทั้งผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มสาวเข้าขบวนที่แต่งกายงดงามตามประเพณี พื้นเมืองแล้ว ยังมีการละเล่นแบบพื้นเมืองด้วย เช่น การฟ้อนเชิง ( อ่าน ” ฟ้อนเจิง ”) หรือร่ายรำในท่าต่อสู้ ขับเพลงซอเล่นดนตรีพื้นเมืองและแห่เป็นรูปขบวนไป และสองข้างทางที่ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ง่ามจะมีการรดน้ำดำหัวอวยชัยให้พรกัน สนุกสนานไปด้วย

 

oog1uenyhx9hB8NKMAV-o.jpg


ประวัติความเป็นมาไม้ค้ำสะหลี(ไม้ค้ำศรีมหาโพธิ์)

มีตำนาน เล่าว่า สมัยเมื่อ ครูบาปุ๊ด หรือครูบาพุทธิมาวังโส เป็นเจ้าอาวาส (องค์ที่ 14) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ยามเดือนแปดเหนือ (เดือนพฤษภาคม) พ.ศ.2314 ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดเอากิ่งไม้สะหลี (ศรีมหาโพธิ) ภายในวัดหักลงมา ครูบาท่านให้นึกตกใจกลัวยิ่งนัก ด้วยว่าสมัยเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ มิเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเลย ท่านคิดอย่างนั้นจนเครียดหนัก ตกตอนกลางคืน เข้าจำวัด ก็เกิดนิมิตขึ้นว่า มีเทวดามาบอกว่าเหตุอาเพศลมพัดกิ่งไม้สะหลีหัก เป็นเพราะท่านไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม โดยเคร่งครัด นิมิตนั้นทำให้ท่านปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น จวบจนล่วงเวลาได้ 2 เดือนก็บรรลุธรรมอภิญญาณ สามารถย่นย่อแผ่นดินได้

 

 

เป็นที่เล่าลือว่าวันหนึ่ง ท่านไปบิณฑบาต ที่อำเภอแม่แจ่ม แล้วกลับมาฉันที่วัดพระธาตุศรีจอมทองในเช้าเดียวกันโดยมีพ่อค้าวัวต่างถิ่นชาวแม่แจ่มที่มาซื้อข้าวของค้าขายแลกเกลือที่อำเภอจอมทอง ยืนยันว่าได้พบครูบาปุ๊ดเดินออกมาจากป่าบริเวณบ้านหัวเสือ พระบาท (หมู่บ้านเชิงดอยทางทิศตะวันตกของอำเภอจอมทอง ประมาณ 7 กิโลเมตร) เวลาเดียวกับที่กองเกวียนของพวกเขาหุงข้าวเสร็จพอดี จึงนิมนต์รับบิณฑบาต และได้ถามว่า ท่านไปบิณฑบาตที่ไหนมาในป่าอย่างนี้ ท่านตอบว่า ไปบิณฑบาตที่แม่แจ่มมา พ่อค้าวัวถามว่า บ้านอะไร พระตอบว่า บ้านสันหนอง พร้อมเปิดฝาบาตรให้พ่อค้าวัวทำบุญใส่บาตร

 

557000003920505.JPEG

 

ตอนนั้นเองที่พ่อค้าได้เห็นข้าวในบาตร เป็นข้าวสีดำๆ ด่างๆ ก็รู้ว่าเป็นข้าวชั้นดี ซึ่งสมัยนั้นมีปลูกกันมากที่แม่แจ่มเท่านั้น จึงถามพระอีกว่า คนลักษณะใดใส่บาตร พระท่านตอบว่า เป็นผู้หญิงคอออม (หมายถึงคอพอง ปูดโปนออกมา) ต่อมาหลังจากซื้อขายข้าวของเสร็จแล้วพ่อค้าเดินทางกลับบ้านแม่แจ่ม ถามภรรยาว่า ได้ใส่บาตรบ้างไหม ภรรยาตอบว่า ใส่บาตรพระเดินออกมาจากป่าวันนี้ โดยเอาข้าวกล่ำใส่ (ข้าวหอมที่ชาวบ้านปลูกไว้ทำขนมทำบุญ) พร้อมอธิบายลักษณะของพระรูปนั้น ซึ่งตรงกันกับพระที่พ่อค้าได้ใส่บาตรเมื่อเช้าวันเดียวกันที่อำเภอจอมทอง จึงได้รู้ว่าพระรูปนี้มีบุญบารมียิ่งนัก คือปรากฏกาย 2 ที่ในเวลาเดียวกัน

 

เมื่อครูบาปุ๊ดได้ธรรมอภิญญาณ มีสติปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับ ครั้นถึงวันเข้าพรรษาปีต่อมา ชาวบ้านมาทำบุญฟังเทศน์ที่วัดมากมาย ท่านจึงได้บอกถึงเหตุการณ์ไม้สะหลีหัก ที่ประชุมจึงตกลงกันว่า ประมาณเดือน 7 (เดือนเมษายน) ของทุกปี ให้พากันไปตัดไม้ง่ามมาช่วยกันค้ำกิ่งต้นสะหลีเอาไว้ไม่ให้หักโค่นยามโดนลมพัด ประเพณีแห่ไม้สะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เข้าวัด จึงมีมานับแต่ พ.ศ.2315 นั้นเอง

maxresdefault.jpg